หมวดที่ 4 การดำเนินงานของศูนย์

ข้อ: 
13.

ศูนย์จะต้องจัดให้มีบริการพื้นฐานที่จำเป็นแก่คนพิการ เพื่อรองรับและสนับสนุนการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการอย่างน้อย 5 บริการหลัก ดังนี้

  1. บริการข้อมูลข่าวสารและการประสานส่งต่อ
  2. บริการให้คำปรึกษาฉันเพื่อน
  3. บริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระ
  4. การพิทักษ์สิทธิคนพิการ
  5. บริการผู้ช่วยเหลือส่วนตัว
ข้อ: 
14.

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง  ทำหน้าที่บริหารกิจการของศูนย์ มีจำนวนอย่างน้อย 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ทั้งนี้ จะต้องเป็นคนพิการเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดโดยให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งผู้อำนวยการศูนย์ 1 คน  สำหรับตำแหน่งอื่นให้ผู้อำนวยการศูนย์ เป็นผู้แต่งตั้ง ตามที่ได้กำหนดไว้อย่างน้อย 5 ตำแหน่ง ได้แก่ รองผู้อำนวยการ เลขานุการ  เหรัญญิก นายทะเบียน และประชาสัมพันธ์ 

โดยตำแหน่งผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ  และเลขานุการ  จะต้องพิจารณาแต่งตั้งจากคนพิการเท่านั้น สำหรับตำแหน่งกรรมการอื่น ให้ผู้อำนวยการพิจารณาแต่งตั้งตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้

ข้อ: 
15.

ผู้อำนวยการศูนย์อาจแต่งตั้งบุคคลภายนอกที่มิใช่สมาชิกสามัญเป็นกรรมการศูนย์ได้ ทั้งนี้ต้องมีจำนวนไม่เกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้น โดยให้มีอำนาจหน้าที่โดยสังเขปดังนี้

  1. ผู้อำนวยการศูนย์    ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของศูนย์ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นโยบายของคณะกรรมการ และแผนการดำเนินงานของศูนย์ เป็นผู้แทนศูนย์ในการทำนิติกรรมสัญญาและติดต่อกับบุคคลภายนอก บริหารจัดการงานประจำของศูนย์ ติดต่อประสานงานทั่วไป กำกับดูแลงานด้านพิทักษ์สิทธิ และการให้บริการของศูนย์ให้เป็นไปตามนโยบายที่ศูนย์กำหนด เรียกประชุมคณะกรรมการศูนย์ ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร และการประชุมใหญ่ของศูนย์ ปฏิบัติการอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ  และมติของคณะกรรมการศูนย์
  2. รองผู้อำนวยการศูนย์  ทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วย” ผู้อำนวยการศูนย์ในการบริหารกิจการของศูนย์ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์มอบหมาย  ทำหน้าที่แทนผู้อำนวยการศูนย์ เมื่อผู้อำนวยการศูนย์ไม่อยู่ หรืออยู่แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือในกรณีที่ผู้อำนวยการศูนย์มอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทำการแทน
  3. เลขานุการศูนย์   ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ประจำของศูนย์ รับผิดชอบงานธุรการ งานบริหารบุคคล และการติดต่อประสานงานทั้งหมดของศูนย์  เป็นผู้ถือเงินสดย่อยของศูนย์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุม จัดเตรียมสถานที่ประชุม และจัดทำรายงานการประชุม ตลอดจนปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการ รองผู้อำนวยการ หรือผู้จัดการเคสแล้วแต่กรณี
  4. เหรัญญิก  มีหน้าที่ควบคุมเอกสารการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของศูนย์   จัดให้มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย บัญชีงบดุล และรายงานทางการเงินของศูนย์ให้ถูกต้องตามหลักบัญชีสากล    ตลอดจนมีหน้าที่จัดเก็บรักษาสมุดบัญชีธนาคาร เอกสารหลักฐานทางการเงิน และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องของศูนย์ไว้เพื่อการตรวจสอบ
  5. นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับงานทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของศูนย์ เป็นตัวกลางในการติดต่อประสานงานระหว่างสมาชิกกับศูนย์ และประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงรายปีจากสมาชิก
  6. ประชาสัมพันธ์  มีหน้าที่เผยแพร่แนวคิด กิจกรรม ผลการดำเนินงาน อุดมการณ์ และชื่อเสียงเกียรติคุณของศูนย์ให้สมาชิกและบุคคลทั่วไปได้รับทราบเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
  7. กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ (ถ้ามี)  ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการบริหารกำหนด  โดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีจำนวนกรรมการรวมไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับกำหนด
ข้อ: 
16.

คณะกรรมการศูนย์อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ในกรณีที่กรรมการศูนย์พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการศูนย์ได้อีก

ข้อ: 
17.

กรณีที่กรรมการศูนย์พ้นจากตำแหน่งตามวาระ  ให้กรรมการศูนย์ที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่กรรมการศูนย์ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการศูนย์ชุดใหม่จะได้ทำหนังสือเวียนแจ้งการเปลี่ยนแปลงกรรมการศูนย์ชุดใหม่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ แล้วจึงให้ทำการรับและส่งมอบงานกันให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน 

ข้อ: 
18.

กรณีตำแหน่งกรรมการศูนย์ว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระ   ให้คณะกรรมการศูนย์แต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลง และให้ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น กรณีตำแหน่งที่ว่างเป็นตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ ให้รองผู้อำนวยการศูนย์รักษาการแทน และจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกตั้งผู้อำนวยการศูนย์แทนตำแหน่งที่ว่าง ภายใน 30 วัน

ข้อ: 
19.

กรรมการศูนย์ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี บริบูรณ์
  2. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี ไม่มีประวัติการกระทำผิดต่อคนพิการหรือละเมิดสิทธิคนพิการ
  3. ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ซึ่งไม่เป็นความผิดที่คนพิการหรือองค์กรด้านคนพิการเป็นผู้เสียหาย
  4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  5. ไม่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน หรืออาจมีผลประโยชน์ขัดกันกับกิจกรรมที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ข้อ: 
20.

กรรมการศูนย์อาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ

  1. ตาย
  2. ลาออก
  3. ขาดจากสมาชิกภาพ
  4. เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย และคณะกรรมการศูนย์มีมติให้ออก โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการศูนย์
ข้อ: 
21.

กรรมการศูนย์ที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะ กรรมการศูนย์ และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการศูนย์มีมติให้ออก

ข้อ: 
22.

อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการศูนย์

  1. กำหนดนโยบายของศูนย์ และดำเนินงานตามนโยบายนั้น
  2. ควบคุมการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ของศูนย์
  3. จัดทำเอกสารหลักฐานทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สิน และการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ให้ถูกต้องและสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อร้องขอ รวมทั้งเสนอรายงานกิจการ รายงานการเงิน บัญชีรายรับรายจ่าย และงบดุล ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  4. ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์และวัตถุประสงค์ของศูนย์ตามข้อบังคับนี้
  5. ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของศูนย์ โดยระเบียบปฏิบัติจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
  6. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของศูนย์ ภายใต้ การกำกับดูแลของคณะกรรมการศูนย์ และมีอำนาจยกเลิกคณะอนุกรรมการเมื่อเห็นสมควร
  7. มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมกรรมการ หรืออนุกรรมการอื่นของศูนย์ได้
  8. เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้ศูนย์ เป็นสมาชิกหรือกรรมการกิตติมศักดิ์ หรือเชิญผู้ทรงเกียรติ ผู้อุปถัมภ์ศูนย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการศูนย์
  9. แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ของศูนย์
  10. เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
  11. แต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
  12. จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด ได้เข้าชื่อร้องขอภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
  13. จัดทำบันทึกประชุมต่าง ๆ ของศูนย์ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
  14. มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
ข้อ: 
23.

คณะกรรมการศูนย์จะต้องประชุมกันอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง โดยจัดให้มีขึ้นทุกๆ 3 เดือน ทั้งนี้ เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการและการให้บริการของศูนย์ การประชุมคณะกรรมการศูนย์ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม

ข้อ: 
24.

ในการประชุมคณะกรรมการศูนย์ ถ้าผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการ ไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น